คำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้องการคดีแรงงาน
ฎีกาสำคัญที่คุณควรรู้
- เลิกจ้าง
- คำสั่งพักงาน
- บุคคลที่จะต้องรับผิดต่อลูกจ้าง
- จัดหาแรงงานไปทำงานต่างประเทศ
- ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างลูกจ้างต้องยินยอม
คำพิพากษาฎีกาที่สำคัญ
01.เลิกจ้าง
ฎีกาที่ 7574/2559
จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ การกำหนดคุณสมบัติของพนักงานและเหตุที่พนักงานจะต้องพ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 มาตรา 9 (5) ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 5 ) พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจและพนักงานทุกคนตามวันที่บทกฎหมายดังกล่าวกำหนด กฎหมายดังกล่าวมิใช่เป็นบทกฎหมายกำหนดความผิดที่มีโทษในทางอาญาที่จะต้องใช้ขณะกระทำความผิดและต้องห้ามมิให้ใช้บังคับย้อนหลังไปก่อนการกระทำความผิด
เมื่อมาตรา 9 (5) ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 5 ) พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับในวันที่ 6 กันยายน 2550 โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยจึงต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายดังกล่าว คือ ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่ว่าจะได้รับโทษจำคุกจริงหรือไม่ เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือพ้นโทษหรือพ้นระยะเวลาการรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษแล้วแต่กรณีเกิน 5 ปี เมื่อโจทก์กระทำความผิดกฎหมายอาญา และคดีถึงที่สุดในวันที่ 26 สิงหาคม 2554 ให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี โจทก์จึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นพนักงานตามมาตรา 9 (5) ที่แก้ไขเพิ่มเติม อันเป็นเหตุให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งพนักงานตามมาตรา 11 (3) จำเลยยกเหตุดังกล่าวมาเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ได้ คำสั่งเลิกจ้างของจำเลยชอบแล้ว
***********************************
2. คำสั่งพักงาน
ฎีกาที่ 136/2536
จำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์เพื่อรอฟังผลที่โจทก์ถูกดำเนินคดีอาญาเมื่อผลคดีอาญาศาลพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีความผิด จำเลยกลับมาอ้างเหตุว่าพฤติการณ์ของโจทก์ส่อไปในทางทุจริตแล้วบอกเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์เช่นนี้ เป็นการขัดกับคำสั่งพักงานเดิม และขัดกับคำพิพากษาในคดีอาญา จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ในระหว่างช่วงเวลาที่จำเลยสั่งให้โจทก์พักงานนั้นโจทก์ยังเป็นลูกจ้างจำเลยอยู่ สภาพการเป็นลูกจ้างและนายจ้างยังคงมีอยู่ต่อไป การที่โจทก์ไม่ได้ทำงานให้แก่จำเลยก็เนื่องมาจากคำสั่งของจำเลยเอง และไม่มีระเบียบว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างจึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ เงินเดือนของโจทก์เป็นค่าจ้างที่คนงานเรียกเอาจากนายจ้างจึงมีอายุความ 2 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 165(9).
***************************************
3. บุคคลที่จะต้องรับผิดต่อลูกจ้าง
ฎีกาที่ 1987/2558
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 ถึงที่ 35 และที่ 37 ถึงที่ 42 เป็นลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานเป็นพนักงานขับรถและพนักงานคลังสินค้าซึ่งเป็นธุรกิจในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ 1 กรณีจึงอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1 วรรคสอง ที่บัญญัติให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ หมายความว่าผู้ประกอบกิจการต้องดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่ถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของผู้ประกอบกิจการโดยไม่เลือกว่าเป็นลูกจ้างรับเหมาค่าแรงหรือลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง อันเป็นการกำหนดหน้าที่ให้ผู้ประกอบกิจการต้องดำเนินการให้สิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงได้รับตามมาตรา 11/1 วรรคสอง จึงเป็นสิทธิตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 บัญญัติไว้โดยตรง ผู้ประกอบกิจการก็ต้องดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงนั้นได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการเช่นเดียวกัน และการกำหนดวันเวลาทำงานอันมีผลกระทบต่อการได้รับเงินค่าตอบแทนถือเป็นสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบกิจการจะเลือกปฏิบัติไม่ได้ ดังนั้นจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการจึงต้องดำเนินการให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 ถึงที่ 35 และที่ 37 ถึงที่ 42 ซึ่งเป็นลูกจ้างรับเหมาค่าแรงได้รับสิทธิประโยชน์ในเงินค่าตอบแทนดังกล่าวให้ถูกต้องตามที่จำเลยที่ 1 จัดให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ 1 โดยต้องดำเนินการให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 ถึงที่ 35 และที่ 37 ถึงที่ 42 ได้รับในส่วนที่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างโดยตรงไม่จัดให้หรือจัดให้น้อยกว่าลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ 1 โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับที่จำเลยที่ 1 จัดให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ 1 ซึ่งหากจำเลยที่ 1 มีหลักเกณฑ์การกำหนดวันเวลาทำงานและการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกัน
สำหรับเงินโบนัสนั้น แม้เป็นสิทธิประโยชน์และสวัสดิการ แต่จำเลยทั้งสองจ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างตามการประเมินผลงานซึ่งมีการแบ่งเกรด เอ บี ซี และดี และขึ้นอยู่กับผลประกอบการของกิจการ ถือเป็นการวางหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสที่เหมือนกัน ส่วนที่ปรากฏว่าในปี 2553 จำเลยที่ 1 จ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงมากกว่าที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้รับจากจำเลยที่ 2 แต่ในปี 2554 จำเลยที่ 1 ก็จ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงต่ำกว่าที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้รับจากจำเลยที่ 2 จึงหาใช่ว่าลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้รับเงินโบนัสประจำปีในอัตราที่ต่ำกว่าลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงทุกปีไม่ แต่เป็นการได้รับตามหลักเกณฑ์การจ่ายที่จำเลยทั้งสองกำหนดไว้เหมือนกันโดยดูจากผลงานของลูกจ้างและจากฐานผลประกอบการของแต่ละบริษัท ดังนั้นที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 ถึง ที่ 35 และที่ 37 ถึงที่ 42 ได้รับเงินโบนัสประจำปีในช่วงดังกล่าวตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสประจำปีที่เหมือนกันจากจำเลยที่ 2 ถือเป็นการได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ
มาตรา 11/1 วรรคสอง บัญญัติให้เฉพาะผู้ประกอบกิจการเท่านั้นที่ต้องดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ดังนั้น เฉพาะจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการเท่านั้นที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 11/1 วรรคสอง จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างโดยตรงของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 ถึงที่ 35 และที่ 37 ถึงที่ 42 และเป็นผู้ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้จัดหาโจทก์ดังกล่าวมาทำงานในธุรกิจในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย
***********************************
4. จัดหาแรงงานไปทำงานต่างประเทศ
ฎีกาที่ 5292/2540
การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน้อยแต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญและไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องกระทำการดังกล่าวด้วยต้นเองมาตั้งแต่ต้นทุกครั้งเพียงแต่จำเลยแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วมีการบอกต่อกันไปเป็นทอด ๆเมื่อผู้เสียหายคนหลังทราบข่าวและมาสอบถามจำเลยจำเลยได้ยืนยันแสดงข้อความอันเป็นเท็จนั้นและให้ผู้เสียหายไปติดต่อที่แฟลตทุกครั้ง อันถือได้ว่าเป็นสำนักงานของจำเลยกับพวก แม้จะไม่มีการประกาศรับสมัครงานปิดไว้ก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นการฉ้อโกง ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 แล้ว จำเลยกับพวกมิได้เป็นผู้รับอนุญาตให้จัดหางานมิได้เป็นกรรมการหุ้นส่วนหรือผู้จัดการของผู้ได้รับอนุญาตให้จัดหางานซึ่งเป็นนิติบุคคล ประกอบกับฟ้องโจทก์ที่บรรยายไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยกับพวกรู้อยู่แล้วว่ายังไม่มีตำแหน่งงานหรืออัตรางานในประเทศบาร์เรนตามที่โฆษณาชักชวนแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายอย่างจริงจังเป็นเพียงอุบายหลอกลวงอ้างเรื่องการจัดหางานเพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อมอบค่าบริการให้จำเลยเท่านั้นไม่ต่างกับการหลอกลวงโดยอ้างเหตุอื่น ๆ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต
**********************************
5. ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างลูกจ้างต้องยินยอม
ฎีกาที่ 3067/2535
ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยว่า จำเลยออกคำสั่งที่ 6/2525ยกเลิกคำสั่งที่ 63/2517 โดยโจทก์มิได้ตกลงยินยอมด้วย จำเลยอุทธรณ์ว่า ตามพฤติกรรมถือได้ว่าโจทก์ได้ให้ความยินยอมด้วยในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าวแล้ว เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานของศาลแรงงานกลางเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 จำเลยออกคำสั่งที่ 6/2525 ยกเลิกคำสั่งที่ 63/2517 โดยมิได้ยื่นข้อเรียกร้องและไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ และข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่แก้ไขใหม่ ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ จึงเป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20คำสั่งที่ 6/2525 ไม่มีผลบังคับแก่โจทก์ ต้องบังคับตามคำสั่งที่ 63/2517.